ปัจจุบันคนไทยนิยมรับประทานปลาดิบกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ได้รับอิทธิพลของอาหารญี่ปุ่น ด้วยรสชาติ และ หน้าตาของอาหารที่ดูสะดุดตาชวนให้น่ารับประทาน ทำให้แทบจะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่เคยลิ้มลองอาหารจำพวก ข้าวปั้นซูชิ ซาซิมิ ที่มีปลาดิบเป็นส่วนประกอบ
ปลาดิบ มี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ปลาดิบน้ำจืด และ ปลาดิบน้ำเค็ม (ปลาดิบทะเล) ซึ่งปลาดิบทั้ง 2 ชนิด มีเชื้อโรคที่แอบแฝงมาแตกต่างกัน ปลาดิบน้ำจืด อาจพบพยาธิบางชนิดแอบแฝงมา เช่น พยาธิตัวจี๊ด พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิใบไม้ลำไส้ ฯลฯ คนส่วนมากมักคิดว่า ปลาน้ำเค็มนั้นไม่มีพยาธิ แต่ในความจริงในปลาน้ำเค็มนั้นอาจพบ ตัวอ่อนของพยาธิอะนิซาคิส (Anisakis simplex)ได้ แต่โชคดีที่การพบพยาธิในปลาน้ำเค็มนั้นพบน้อยกว่าในปลาน้ำจืดมาก และ พยาธิในปลาดิบน้ำเค็มก็มีความรุนแรงน้อยกว่าด้วย นอกจากนี้ปลาดิบที่นำมาประกอบอาหารญี่ปุ่นมักจะทำจากปลาน้ำเค็ม
อย่างไรก็ตามอย่าพึ่งชะล่าใจว่ากินปลาดิบน้ำเค็มจะปลอดภัย 100% พยาธิอะนิสซาคิส ถึงแม้ไม่พบบ่อย ไม่ถึง 10 รายต่อปี ในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็ก่อความรุนแรงได้มาก
มารู้จักพยาธิอะนิซาคิสกันเถอะ
พยาธิอะนิซาคิส (Anisakis simplex) เป็นพยาธิที่พบในปลาทะเลเขตอบอุ่น และ เขตร้อน ในประเทศไทยตรวจพบ ตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ในปลามากกว่า 20 ชนิด เช่น ปลาดาบเงิน ปลาตาหวาน ปลาสีกุน ปลาทูแขก ปลากุแรกล้วย ปลาลัง เป็นต้น ส่วนในต่างประเทศจะพบในปลาจำพวก ปลาคอด ปลาแซลมอน ปลาเฮอริ่ง ระยะตัวอ่อนที่ติดต่อสู่คนจะอยู่ในอวัยวะภายในช่องท้องของปลาทะเล มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ขนาดยาวประมาณ 1-2 ซม. กว้างประมาณ 0.3-0.5 มม. บริเวณปากจะมีหนามขนาดเล็ก บริเวณปลายหางจะมีส่วนแหลมยื่นออกมา พยาธิชนิดนี้จะใช้หนามขนาดเล็ก และใช้ปลายหางแหลมในการไชผ่านเนื้อเยื่อต่างๆ
อาการผิดปกติซึ่งเกิดจากพยาธิอะนิซาคิส
เนื่องจากพยาธิชนิดนี้ขณะเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อสู่มนุษย์ บริเวณปากของพยาธิจะมีหนามขนาดเล็กและปลายหางแหลม ขณะเคลื่อนที่ไชในกระเพาะอาหาร และ ลำไส้ของคน ทำให้เกิดแผลขนาดเล็ก และ อาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ ส่งผลให้ผู้ที่มีพยาธิชนิดนี้ในกระเพาะอาหารและลำไส้ มีอาการ ปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด อาการมักไม่เฉพาะเจาะจงคล้ายกับอาการของโรคกระเพาะอาหาร บางรายอาจมีอาการท้องเสีย หรือ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดถ้ามีแผลในกระเพาะขนาดใหญ่ อาการมักจะเริ่มเกิดหลังรับประทานอาหารที่มีพยาธิชนิดนี้ เป็นชั่วโมง หรือ เป็นวันก็ได้
การวินิจฉัย และ การรักษาโรคซึ่งเกิดจากพยาธิชนิดนี้
การวินิจฉัย และ การรักษาทำโดยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ถ้าพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ก็ใช้กล้องคีบตัวพยาธิออก พยาธิชนิดนี้ไม่สามารถตรวจพบได้ในอุจจาระ เนื่องจากมันจะเกาะติดแน่นกับกระเพาะอาหาร และ ลำไส้
ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาพยาธิชนิดนี้ แต่จาการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น โดยหัวหน้าทีมวิจัย โตชิโอะ ลิยาม่า พบว่า วาซาบิ มีฤทธิ์ในการฆ่าพยาธิชนิดนี้ได้ แต่ขนาด และ ปริมาณการใช้ฆ่าพยาธิชนิดนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ถึงอย่างไรก็ตามการป้องกันการติดพยาธิชนิดนี้ ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ และ ดีที่สุด
ก่อนอื่นควรต้องแน่ใจว่า ปลาดิบที่นำมาทำอาหารนั้นเป็นปลาทะเล เพราะ บางครั้งผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์นำปลาน้ำจืดหลายชนิดมาทำอาหาร ทำให้เกิดโรคพยาธิตัวจี๊ด พยาธิใบไม้ในตับ หรือ พยาธิใบไม้ลำไส้ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่า
การแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -35 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 15 ชั่วโมง หรือ ต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 7 วัน หรือ ผ่านความร้อนมากกว่า 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 5 นาที ก่อนการประกอบอาหารจะทำให้พยาธิชนิดนี้ตายได้
นอกจากพยาธิบางชนิดที่พบในปลาดิบ แล้วยังพบแบคทีเรียบางชนิด และ ไวรัสตับอักเสบเอได้ด้วย โดยขึ้นกับสุขอนามัย และ ความสะอาดของขั้นตอนการเตรียมอาหาร ดังนั้นถ้าคิดจะรับประทานปลาดิบ ควรดูให้แน่ใจก่อนว่าขั้นตอนการประกอบอาหารสะอาดถูกหลักอนามัย เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากปลาดิบ
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.si.mahidol.ac.th
พญ.พัชรพร เตชะสินธุ์ธนา
ภาควิชาปรสิตวิทยา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น